Lágrima : 16 บาร์ หยดน้ำตา และความโศกเศร้า

Recuerdos de la Alhambra, Gran Vals (Nokia Tune), Capricho Árabe, Adelita, Gran Jota บทเพลงเหล่านี้คือการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่โดยไม่ต้องท้าวความให้ยืดยาวของฟรานซิสโก ทาร์เรกา (Francisco Tárrega, 1852 - 1909) และอีกหนึ่งบทเพลงที่โด่งดังของทาร์เรกาคือ Lágrima
.
หยดน้ำตาจากความโศกเศร้า
.
ลากริมา (Lágrima) แปลว่า หยดน้ำตา (Teardrop) เป็นชื่อเพลงที่สอดคล้องกับจุดกำเนิดจากหลายแหล่งข้อมูลที่ทับซ้อนกัน
.
เรื่องราวแรก กล่าวถึงการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศอังกฤษของฟรานซิสโก ทาร์เรกา นักกีตาร์ชาวสเปนผู้ห่างไกลจากบ้านเกิด สภาพอากาศที่ขุ่นมัวและวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย ส่งผลให้ทาร์เรกาประสบปัญหาการใช้ชีวิตในลอนดอน โรคซึมเศร้าและอาการคิดถึงบ้าน (Homesick) กัดกินจนใบหน้าเต็มไปด้วยความเศร้าหมองจนเพื่อนร่วมงานสังเกตได้ (บางข้อมูลกล่าวว่าเป็น “ผู้ชม”) ทาร์เรกาได้รับกำลังใจจากเพื่อนร่วมงาน และเสนอให้นำความรู้สึกดังกล่าวขับออกมาเป็นบทเพลงที่มีชื่อว่า Lágrima
.
เรื่องราวที่สอง กล่าวถึงการเสียชีวิตของลูกสาวคอนเซปเชียน ทาร์เรกา (Concepción Tarrega) ในวันที่ 22 ธันวาคม 1891 ก่อนทาร์เรกาเดินทางกลับสเปนเพียงสามวัน นำไปสู่การให้กำเนิดบทเพลง Lágrima
.
หลายครั้งที่มีการพูดถึงที่มาของบทเพลง เรื่องราวแรกมักถูกกล่าวถึงมากกว่าเรื่องราวที่สอง แต่ไม่ว่าทั้งสองเรื่องราวจะมีมูลมากน้อยเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือความโศกเศร้าที่เกิดกับฟรานซิสโก ทาร์เรกา
.
เพลงง่ายที่เล่นให้ไพเราะยาก
.
Lágrima มีโครงสร้างเพลงแบบ AABBA ท่อน A อยู่ในคีย์ E Major ท่อน B อยู่ในคีย์ E minor ท่อน A ให้ความรู้สึกไร้เดียงสา บริสุทธิ์ บอบบาง ทาร์เรกาเปรียบการเล่นโน้ต 16 ตัวแรกเหมือนหยดน้ำตาที่ไหลลงมาอาบแก้มอย่างช้าๆ สวนทางกับท่อน B ที่ให้ความรู้สึกโศกเศร้าอย่างฉับพลัน ทาร์เรกาเปรียบท่อน B เหมือนตัวแทนของความโกรธที่ไม่ได้แสดงออกอย่างบ้าคลั่งแต่เก็บงำไว้อย่างเจ็บปวด
.
มีคำกล่าวเชิงขบขันว่า “เพลงเร็ว เล่นง่ายกว่า เพลงช้า” คำกล่าวนี้อาจมีความเป็นไปได้ในกรณีของ Lágrima โดยหากมองเพียงผิวเผินอาจเข้าใจว่าเพลง 16 บาร์นี้ มีความเรียบง่ายและสามารถเล่นได้ไม่ยาก แต่หากสังเกตในรายละเอียดจะพบความซับซ้อนของการเล่นชนิดที่เรียกว่า "โน้ตต่อโน้ต" เช่น การไล่ระดับเสียงจาก ”เบาไปดัง” และ “ดังไปเบา” (Crescendo-Decrescendo) การโยนจังหวะ-หน่วงจังหวะ (Rubato) การสั่นเสียง (Vibrato) การสไลด์ (Glissando)
.
Lágrima อาจเป็นเพลงที่เล่นจบได้ง่าย แต่หากต้องการเล่นให้ไพเราะอาจต้องให้เวลาฝึกฝนพอสมควร และถือเป็นอีกหนึ่งบทเพลงจากยุคโรแมนติกที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจทุกตัวโน้ตของทาร์เรกา
.
Lágrima เป็นหนึ่งในเพลงที่มีการถูกนำมาตีความวิธีการเล่นมากที่สุด ซึ่งนอกจากเทคนิคและการกำกับต่างๆที่ปรากฏบนโน้ตเพลง การเข้าใจถึงที่มาของบทเพลง อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้สามารถเล่นเพลงได้ไพเราะมากยิ่งขึ้น
.
Writer : Literary Boy
.
References :
http://vefurkela.com/en/index.php/tonlist/31-lagrima
https://www.savarese.org/music/Lagrima.html
https://guitarcurriculum.com/score/lagrima
https://newzik.com/.../composer-of-the-month-francisco...





    วีดีโอแนะนำเทคนิคการเล่นดนตรี   

         
   
                                                                                        
© Patommavat Thammachard, CC license